รายนามคณะกรรมการการเลือกตั้ง ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประเทศไทย)

ชุดแรก (พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2544)

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2540 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง[6] โดยประกอบไปด้วย

ลำดับที่ชื่อ-นามสกุลตำแหน่งวาระการดำรงตำแหน่ง
1ธีรศักดิ์ กรรณสูตประธานกรรมการการเลือกตั้ง27 พฤศจิกายน 2540 - 26 พฤษภาคม 2544
2สวัสดิ์ โชติพานิชกรรมการการเลือกตั้ง
(ฝ่ายสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย)
27 พฤศจิกายน 2540 - 26 พฤษภาคม 2544
3ยุวรัตน์ กมลเวชชกรรมการการเลือกตั้ง
(ฝ่ายจัดการการเลือกตั้ง)
27 พฤศจิกายน 2540 - 26 พฤษภาคม 2544
4วิสุทธิ์ โพธิแท่นกรรมการการเลือกตั้ง
(ฝ่ายกิจการพรรคการเมือง)
27 พฤศจิกายน 2540 - 4 กุมภาพันธ์​ 2543
5โคทม อารียากรรมการการเลือกตั้ง
(ฝ่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน)
27 พฤศจิกายน 2540 - 26 พฤษภาคม 2544

ต่อมาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2543 นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น ได้ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการการเลือกตั้ง และเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2543 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ นายจิระ บุญพจนสุนทร ดำรงตำแหน่งแทน

โดยมี ร้อยตรีวิจิตร อยู่สุภาพ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2541 และปฏิบัติหน้าที่ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2546

ชุดที่สอง (พ.ศ. 2544 - พ.ศ. 2549)

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2544วาระการดำรงตำแหน่ง วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2544 - 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 [7]

  • พลเอกศิรินทร์ ธูปกล่ำ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (วันที่ 21 ตุลาคม 2544 - 15 พฤษภาคม 2545) (พลเอกศิรินทร์ ธูปกล่ำ ได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อ 15 พฤษภาคม 2545) และเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2545 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ กรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายกิจการพรรคการเมือง แทน พลเอกศิรินทร์ ธูปกล่ำ และพลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ ได้ยื่นหนังสือลาออก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2549
  • พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ กรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายกิจการพรรคการเมือง (ภายหลังจากการแต่งตั้ง พลเอกจารุภัทร เรืองสุวรรณ แล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งได้เลือก พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธานกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2545)
  • นายจรัล บูรณพันธุ์ศรี กรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย (ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2548)
  • นายวีระชัย แนวบุญเนียร กรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน
  • นายปริญญา นาคฉัตรีย์ กรรมการการเลือกตั้ง ฝ่ายบริหารการเลือกตั้ง

โดยมี พลตำรวจตรีเอกชัย วารุณประภา เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2547 และลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2549

การปรับระบบการทำงาน หลังการเสียชีวิตของนายจรัล บูรณพันธุ์ศรี

ภายหลังการเสียชีวิตของนายจรัล บูรณพันธุ์ศรี และยังไม่มีการสรรหาบุคคลใหม่มาทดแทน กกต.ที่เหลืออยู่ 4 คน ได้แบ่งหน้าที่ใหม่ จากเดิมที่แบ่งตามลักษณะงานตามความเชี่ยวชาญของ กกต. แต่ละคน ออกเป็น 4 เขตพื้นที่ให้ กกต. แต่ละคนดูแล โดยแต่ละคนต่างก็มีอำนาจเด็ดขาดทั้งการบริหาร การเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้ง การสืบสวนสอบสวน และวินิจฉัย ในเขตพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ คือ

  • พลตำรวจเอก วาสนา เพิ่มลาภ ดูแลภาคกลางและกรุงเทพ
  • นายปริญญา นาคฉัตรีย์ ดูแลภาคใต้
  • นายวีระชัย แนวบุญเนียร ดูแลภาคเหนือ
  • พลเอก จารุภัทร เรืองสุวรรณ ดูแลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ได้มีการเพิ่มบุคลากรทั้งในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนภารกิจและการทำงานของ กกต. ให้สำเร็จ

มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานการวินิจฉัยสืบสวนสอบสวน จากเดิมที่มีสองส่วน เพื่อการตรวจสอบและคานอำนาจ คือ

  • สำนักสืบสวนสอบสวน มีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียน และสอบสวนหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง
  • สำนักวินิจฉัย มีหน้าที่พิจารณากลั่นกรองพยานหลักฐานจากเจ้าหน้าที่สำนักสืบสวนสอบสวนสืบสวนก่อนเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่ามีมูลหรือไม่ หากหลักฐานไม่เพียงพอ ก็ส่งเรื่องให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือรองเลขาธิการที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาหลักฐานเพิ่มเติม แล้วจึงส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยเป็นผู้พิจารณาก่อนส่งความเห็นในเรื่องนั้นต่อให้ กกต.กลาง วินิจฉัยชี้ขาดขั้นสุดท้าย แต่ในกรณีที่มีความเร่งด่วน ก็อาจส่งเรื่องให้ กกต.กลางวินิจฉัยได้

การจัดโครงสร้างเดิม คล้ายกับการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรม ที่มีสำนักสืบสวนสอบสวนทำหน้าที่คล้ายตำรวจ สำนักวินิจฉัยทำหน้าที่คล้ายอัยการ คณะอนุกรรมการวินิจฉัยทำหน้าที่คล้ายเป็นศาลชั้นต้น และ กกต.กลางทำหน้าที่คล้ายกับเป็นศาลสูงสุด

แต่หลังจากที่ กกต. ชุดที่สองเข้ามาดำเนินการไม่นาน ก็มีการปรับให้หน่วยงานทั้งสองมารวมเป็นสำนักเดียวกัน คือ สำนักสืบสวนและวินิจฉัย แต่แบ่งพื้นที่การทำงานเป็นภาค ไม่ได้แบ่งเนื้อหาสาระของการทำงาน มีลักาณะการทำงานคล้ายตำรวจภูธรภาค ไม่มีอัยการ (สำนักวินิจฉัย)

กรณีคำพิพากษาของศาล

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ศาลอาญาได้ตัดสินตามคำฟ้องของโจทย์คือ นาย ถาวร เสนเนียม ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ในข้อหาการปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบของ กกต. โดยการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคไทยรักไทย ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มีโทษตามมาตรา 42 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน (ไม่ได้ลงโทษตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา) ศาลได้มีคำตัดสินว่าให้คณะกรรมการสามคนได้แก่ พลตำรวจเอกวาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร ต้องคำพิพากษาศาลอาญา ให้จำคุก 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่งผลให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง กกต. เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ และต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกฟ้อง

ชุดที่สาม (พ.ศ. 2549 - 2556)

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2549 คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ออกประกาศฉบับที่ 13 แก้ไขโดยประกาศฉบับที่ 16 ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป รวมทั้งให้นายอภิชาต สุขัคคานนท์ นายประพันธ์ นัยโกวิท นางสดศรี สัตยธรรม นายสมชัย จึงประเสริฐ และนายสุเมธ อุปนิสากร เป็นประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ชุดที่ 3 ตามความที่ประธานวุฒิสภาเคยนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลทั้งห้าเป็นประธานกรรมการการเลือกตั้งและกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งท้องถิ่น แม้จะยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ไปแล้ว

วาระการดำรงตำแหน่งวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 – วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2556 และ รักษาการจนถึงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556

  • นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านบริหารกลาง
  • นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบงานด้านการบริหารงานเลือกตั้ง
  • นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านการสืบสวนและสอบสวน
  • นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านกิจการพรรคการเมืองและออกเสียงประชามติ
  • นายสุเมธ อุปนิสากร กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านการมีส่วนร่วม โดยพ้นตำแหน่งด้วยเหตุอายุครบ 70 ปี เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 และเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น เป็นกรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านการมีส่วนร่วม แทนนายสุเมธ อุปนิสากร

โดยมี ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 และลาออกจากเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2554 เพื่อไปดำรงตำแหน่ง กรรมการ กสทช. คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีมติแต่งตั้งให้ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555[8]

ชุดที่สี่ (พ.ศ. 2556-พ.ศ. 2561)

คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดที่สี่ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556 และทำพิธีรับพระบรมราชโองการแต่งตั้งและเข้าปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วาระการดำรงตำแหน่ง 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556 - 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561[9]

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ห้องประชุมศาลฎีกา ได้เรียกประชุมผู้พิพากษาศาลฎีกา ทั้ง 139 คน เพื่อประชุมใหญ่ มีผู้ออกเสียงทั้งหมด พิจารณาสรรหาบุคคลที่สมควรถูกเสนอชื่อให้เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แทนที่ประชุมจะเลือกคณะกรรมการเลือกตั้งทั้งหมด 2 ตำแหน่ง ซึ่งครั้งนี้ได้เพียง 1 ตำแหน่ง โดยจะเรียกประชุมผู้พิพากษาศาลฎีกา อีกครั้ง ในวันที่ 9 ตุลาคม และอีก 3 ตำแหน่ง จะมาจากการประกาศรับสมัครจากบุคคลทั่วไป จะมีการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหากกต. 6 คน ซึงประกอบไปด้วย 1.ประธานศาลฎีกา 2.ประธานศาลปกครอง 3.ประธานสภาผู้แทนราษฎร 4.ผู้นำฝ่ายค้าน 5.ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกมา 1คน ที่ไม่ใช่ตุลาการ 6.ที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดเลือกมา 1 คน โดยที่ไม่ใช่ตุลาการ

  • นาย ศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านกิจการบริหารกลาง
  • นาย บุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย
  • ว่าที่ร้อยตรี ดร.ประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านกิจการการมีส่วนร่วม
  • ดร.ธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ
  • รองศาสตราจารย์ สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง รับผิดชอบด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง (13 ธันวาคม 2556 - 20 มีนาคม 2561) [10]

ผลงานสำคัญของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดนี้คือ1. การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

2. การจัดการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2557

3. การรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

4. การจัดการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2559

การจัดการเลือกตั้งทั่วไปปี 2557

คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันนี้ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งบนจุดเปลี่ยนของประเทศ และปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้ง การแตกแยกเป็นสองขั้วการเมืองจนในที่สุดรัฐบาลได้ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 แม้คณะกรรมการการเลือกตั้งจะเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง แต่ กกต.ชุดนี้ก็ถูกคาดหวังจากคนทั้งประเทศ ที่จะเป็นกลไกที่ช่วยคลี่คลายความขัดแย้งผ่านกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่มีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ให้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม

แม้ กกต. จะมีความตั้งใจแน่วแน่ ปรารถนาให้การเลือกตั้งเป็นทางออกในการคลี่คลายปัญหา แต่การทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งตามที่กฎหมายกำหนดบนพื้นฐานความเข้าใจและเป้าหมายที่แตกต่างกันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจนำมาสู่ความขัดแย้งรุนแรงได้ทุกขณะ กกต. ได้ส่งสัญญาณให้รัฐบาลรับรู้หลายครั้ง ขอให้เลื่อนการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปจนกว่าจะมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาล คู่ขัดแย้ง และทุกภาคส่วนในสังคม แต่ไม่เป็นผล ทำให้ กกต. ต้องทำหน้าที่เดินหน้าจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นช่วงที่ยากลำบาก เนื่องจาก กกต. และ สนง.กกต.จว. หลายจังหวัดได้รับการขัดขวางเข้าสถานที่ทำงานไม่ได้ การปิดล้อมสถานที่พิมพ์บัตรเลือกตั้ง ปิดล้อมสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งและในวันเลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่สามารถเปิดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งได้ทุกหน่วยเลือกตั้ง และได้กำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 มีนาคม 2557 เพื่อจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้สำเร็จตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้

ต่อมาผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 และศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยการเลือกตั้งที่ 5/2557 เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2557 ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 108 วรรคสอง คณะรัฐบาล กกต. และผู้ขัดแย้งได้มีการประชุมเพื่อหารือในประเด็นการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งใหม่ ในขณะนั้นความขัดแย้งก็มีอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศกฎอัยการศึก ด้วยการอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย และได้เชิญตัวแทนจาก 7 ฝ่าย เข้าร่วมประชุมที่สโมสรกองทัพบก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 โดยผลการประชุมในวันนั้น แต่ละฝ่ายไม่สามารถหาทางออกที่ดีที่สุดของประเทศได้

ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้มีการประชุมอีกครั้ง โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ ประกาศยึดอำนาจ นับเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย

หลังจากนั้นได้มีประกาศให้สมาชิกวุฒิสภาสิ้นสุดลง และให้งดการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทำให้สถานการณ์ของประเทศ ณ ขณะนั้นได้บรรเทาความร้อนแรงและการปะทะที่จะให้เกิดการเสียเลือดเสียเนื้อของประชาชนคนไทยแล้วเดินหน้าเข้าสู่การปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง ต่อมามีคำสั่งคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่22/2559 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นเป็นการชั่วคราวในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น โดยให้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นในกรณีที่มีการยุบสภาท้องถิ่น[11]มีนายกองเอกกฤษฎา บุญราชเป็นประธานกรรมการคณะกรรมการสรรหา

ชุดที่ห้า (พ.ศ. 2561-ปัจจุบัน)

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 222 คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคนซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลดังต่อไปนี้ (๑) ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ที่จะยังประโยชน์แก่การบริหารและจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา จำนวนห้าคน(๒) ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนสองคน ผู้ซึ่งจะได้รับการสรรหาเป็นกรรมการการเลือกตั้งตาม (๑) ต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๓๒(๒) (๓) (๔) (๕) (๖) หรือ (๗) หรือเป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปี ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการสรรหาประกาศกำหนด

และมาตรา 223 กรรมการการเลือกตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งเจ็ดปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบัน มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 [12]และวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2561[13]

  1. นาย อิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  2. ศาสตราจารย์ ดร. สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ กรรมการการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  3. ธวัชชัย เทอดเผ่าไทย กรรมการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  4. นาย ฉัตรไชย จันทร์พรายศรี กรรมการการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  5. นาย ปกรณ์ มหรรณพ กรรมการการเลือกตั้ง (12 สิงหาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  6. นาย เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ กรรมการการเลือกตั้ง (4 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)
  7. ดร. ฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กรรมการการเลือกตั้ง (4 ธันวาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน)

โดยมีพันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง (8 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 - ปัจจุบัน) นาย ดุษฎี พรสุขสวัสดิ์ นาย เมธา ศิลาพันธ์ นาย แสวง บุญมี นาย กฤช เอื้อวงศ์ นาย ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล เป็นรองเลขาธิการ กกต.

การจัดการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562

คณะกรรมการการเลือกตั้งชุดปัจจุบันนี้ได้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่หลังจากการเผยแพร่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 โดยมีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม 2562[14] ในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่หลังจากมีการเปรียบเทียบจำนวนผู้มีสิทธิ์กับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ พบว่ามีจำนวนบัตรเลือกตั้งมากกว่าจำนวนผู้มีสิทธิ์ในบางพื้นที่[15]

แหล่งที่มา

WikiPedia: คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประเทศไทย) http://maps.google.com/maps?t=k&q=Thailand&ll=13.7... http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID... http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?Ne... http://www.ect.go.th/ http://www.ect.go.th http://click.senate.go.th/wp-content/uploads/2017/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2540/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2544/E/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2555/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2556/E/...